Month: มิถุนายน 2023

Siblings Without Rivalry

สงบศึกพี่น้อง สู่ความปรองดองของบ้าน

ผู้เขียน: อะเดล เฟเบอร์, อีเลน มาซลิช
สำนักพิมพ์: แซนด์คล็อคบุ๊คส์/SandClock Books
ราคาปก 270 บาท
จำนวนหน้า 256 หน้า

สั่งซื้อหนังสือ ร้านนายอินทร์: https://atth.me/go/d1hcLIqY
Shopee SandClock Books: https://shope.ee/5pdoD4IR2K
Shopee Naiin: https://shope.ee/AzRSglvkb


คำโปรย
หนังสือเล่มนี้มอบคำแนะนำที่เรียบง่าย แต่ได้ผลเมื่อผสานแนวคิดเหล่านี้เข้ากับชีวิตประจำวัน พาคุณไปร่วมกันทำความเข้าใจ ช่วยลูกๆ จัดการความรู้สึกของพวกเขา ทั้งอารมณ์ที่รุนแรง ความอิจฉา การแก่งแย่ง การกระทบกระทั่งนับครั้งไม่ถ้วนในความสัมพันธ์ของบ้านที่มีพี่น้อง ให้อารมณ์เหล่านี้ช่วยให้พวกเขาเติบโต เป็นมนุษย์ที่มีความเอาใจใส่ และห่วงใยผู้อื่นให้มากขึ้น

เพราะครอบครัวเป็นพื้นที่แรกของลูกในการเรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์ การรับฟัง เรียนรู้ที่จะยึด ยอม และยืดหยุ่น เพื่อให้ลูกๆ ได้เป็นเพื่อน เป็นคู่คิด มีกันและกันแม้ในวันที่เราไม่อาจอยู่เคียงข้างพวกเขาอีกต่อไป

โดย อะเดล เฟเบอร์ และอีเลน มาซลิช เจ้าของหนังสือ How to Talk So Kids Will Listen & Listen So Kids Will Talk ที่แปลไปแล้วมากกว่าสามสิบภาษาทั่วโลก


คำนิยม สงบศึกพี่น้อง ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 จบ

การยืนกรานให้ลูกรู้สึกดีๆต่อกันนำไปสู่ความรู้สึกเลวร้าย

การรับรู้ความรู้สึกเลวร้ายระหว่างลูกๆนำไปสู่ความรู้สึกดี

นี่คือข้อความหนึ่งที่ได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นดังที่ผมพูดและเขียนเสมอว่าเราบังคับให้พี่น้องรักกันมิได้ ที่จริงแล้วเราสั่งให้ใครรักใครมิได้เลย ความรักระหว่างพี่น้องเกิดจากการร่วมทุกข์ร่วมสุขมากกว่าอย่างอื่น เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ถึงสองประโยคข้างต้น ผมจึงเห็นควรอธิบายเพิ่มเติม
.
ความทุกข์ของครอบครัวทำให้คนทั้งบ้านรักกันได้ และสำหรับพี่น้อง ลำพังความทุกข์ที่เกิดจากการแย่งของเล่นกัน ไปจนถึงชิงดีชิงเด่นกันก็สร้างความรักได้แล้ว หากพ่อแม่ล่วงรู้เรื่องนี้ เราไม่พยายามบอกว่าใครดีตรงไหนแล้วให้ลูกอีกคนหนึ่งทำตามอย่าง
.
แต่เราเปิดโอกาสให้พี่น้องได้เรียนรู้ว่าแต่ละคนไม่ดีตรงไหน แล้วยอมรับความแตกต่างตั้งแต่แรก พวกเขาจะทำแบบนี้ได้ง่ายกว่าตอนเป็นเด็กเล็ก และจะทำได้ยากขึ้นๆ เมื่อโตขึ้น พอยอมรับกันได้แล้ว พวกเขาก็จะค้นหาวิธีเติบโตด้วยกันและรักใคร่กันได้ในที่สุด
.

เป็นเส้นทางที่ตรงไปตรงมาที่สุดด้วย

ผู้เขียนปิดท้ายบทนี้ด้วยประโยคนี้
.
พี่นิสัยแบบนั้น น้องนิสัยแบบนี้ แม้เราจะรู้สึกว่านิสัยบางประการควรได้รับการสั่งสอนหรือแก้ไข แต่นั่นเก็บไว้พูดคุยส่วนตัวได้ ที่สำคัญกว่าคือให้โอกาสพวกเขาเรียนรู้กันและกันให้มากที่สุด ก่อนที่เวลาพรากจากจะมาถึง แล้วเชื่อเถอะว่าเวลานั้นจะมาถึงเร็วเกินตั้งตัว
.

เด็กไม่ต้องการโลกของการแข่งขันที่บ้านเพื่อเตรียมตัวให้แกร่งสำหรับโลกภายนอกหรอกเหรอ

เป็นคำถามที่ใครบางคนในหนังสือเล่มนี้ถาม และผมเชื่อว่าหลายคนก็ถาม หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบด้วยบทสนทนาระหว่างพ่อแม่ มากกว่าจะเขียนออกมาเป็นข้อสรุปตายตัว วิธีอ่านหนังสือเล่มนี้จึงต้องการเวลาที่ปลอดโปร่ง เปิดจิตใจให้กว้าง แล้วรับฟังความเห็นของพ่อแม่หลายคนในหนังสือเล่มนี้ ที่บอกแก่เรา
.
ในบ้านเมืองเรา การจะให้คุณพ่อคุณแม่ไปเข้ากลุ่มลักษณะนี้มิใช่วัฒนธรรมและทำได้ยาก ดังนั้น แม้ผมบอกว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ต้องการเวลา แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือทางลัดด้วย
.

วิธีการเขียนหนังสือให้เกียรติคนอ่านมาก

ท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผู้เขียนหนังสือ แต่ควรรับฟังความเห็น ความรู้สึก และสภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลาย รับรองได้ว่าในแต่ละเรื่องต้องโดนกันถ้วนหน้าอย่างแน่นอน

พ่อให้แพนเค้กพี่มากกว่าผม!

อ่านถึงตรงนี้ ตัวผมเองก็สะอึก เพราะหลายท่านคงเคยได้ยินผมพูดและเขียนเสมอว่า “พี่เกิดก่อนให้เขาได้อะไรมากกว่าน้องสักเล็กน้อย น้องจะเรียนรู้ลำดับชั้นของความสัมพันธ์ได้ดีกว่า”
.
เมื่ออ่านหนังสือนี้ก็ถึงเวลาควรอธิบายเพิ่มเติมอีกแล้ว ลำดับพี่น้องอาจจะมีความสำคัญสำหรับสังคมตะวันออกมากกว่า การให้น้องเคารพพี่มิใช่เรื่องเสียหาย แต่ก็ไม่ควรถึงขั้นให้พี่ต้องเสียสละทุกอย่างตลอดเวลาแก่น้อง เพราะนั่นรังแต่จะสร้างปัญหามากกว่า
.
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่หนังสือเล่มนี้ยกมาให้เราฟังน่าทึ่งไม่น้อย ลองอ่านดูนะครับ
“พ่อให้แพนเค้กพี่มากกว่าผม!”
“เปล่านะ พ่อให้คนละสี่ชิ้นเท่ากัน”
“แต่แพนเค้กของพี่ชิ้นใหญ่กว่า!”
“ไม่นะ พ่อทำขนาดเท่ากันทุกแผ่น”
.
จะเห็นว่าเกิดการโต้เถียงขึ้นจนได้ มิหนำซ้ำยังเป็นการโต้เถียงประเภทที่เรียกว่าไม่มีใครใส่ใจข้อเท็จจริง แม้ว่าต่างฝ่ายต่างอ้างข้อเท็จจริง กล่าวคือต่อให้แพนเค้กขนาดเท่ากันอย่างสัมบูรณ์จริง เรื่องนี้ก็ไม่จบ เพราะประเด็นหลุดออกไปจากเรื่องขนาดของแพนเค้กตั้งแต่ประโยคที่หนึ่งแล้ว
.
“อ้าว ลูกยังไม่อิ่มเหรอ” #พ่อพูดเท่านี้ก็โดนใจคนน้องไปเรียบร้อยแล้ว
ลูกต่อว่าพ่อ แทนที่พ่อจะใช้เหตุผล ตั้งสติสักนิด รับทราบอารมณ์และความรู้สึกของลูก เรื่องจะง่ายกว่ามาก อย่างไรก็ตามนี่เป็นทักษะที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเวลาฝึกฝน
.
ลองอีกคำถามยากๆ #แม่รักใครที่สุดคะ แล้วลองพลิกหาคำตอบดู
และหากคุณตอบได้ไม่ดีพอ เตรียมตัวพบคำถามต่อไป “ถ้าเราทุกคนอยู่บนเรือแล้วเรือล่ม ทุกคนจมน้ำพ่อจะช่วยใครคะ” ช่างเป็นลูกสาวที่หาเรื่องพ่อแม่ได้จริงๆ สินะ!
.
ลำพังแค่เรื่องความยุติธรรมและความเท่าเทียมนี้ก็มีให้อ่านเป็นร้อยหน้าเลยทีเดียว ซึ่งเป็นร้อยหน้าที่เต็มไปด้วยกรณีศึกษาและตัวอย่างบทสนทนา ดังนั้นเราจึงควรอ่านพลางใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งมากกว่าอ่านแบบผ่านๆ เพราะผู้เขียนมิได้สรุปอะไรเป็นวิชาการขนาดยาว แต่เขียนขมวดประเด็นสนทนาไว้อย่างรัดกุมและกลมกลืน รับรองได้ว่าจะได้เห็นตัวอย่างการทะเลาะกันระหว่างพี่น้องหลากหลายรูปแบบมาก

จะไม่มีการอนุญาตให้ทำร้ายกันในบ้าน

ช่างน่าดีใจที่ผู้เขียนและผมเห็นตรงกันอีกแล้ว แต่อาจจะมีคุณพ่อคุณแม่บางบ้านสงสัยว่า เมื่อเราห้ามตีกันในบ้าน แล้วเด็กๆ ไปตีกันนอกบ้านจะทำอย่างไร คำอธิบายคือ เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราห้ามใครจริงๆ ไม่ได้หรอก แต่นี่คือหน้าที่ของเราที่จะประกาศกฎบางข้อไว้ให้แข็งแรง แข็งแรงมากพอที่เด็กๆ จะระลึกเสมอว่าตนเองกำลังละเมิดกฎ
.
อย่างไรก็ตามยืนยันได้ว่าหากท่านประกาศกฎห้ามทำร้ายร่างกายระหว่างพี่น้องตั้งแต่แรก แล้วลงมือขัดขวางทันทีทุกครั้งที่เห็นตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของวัย พวกเขาจะซึมซับประกาศิตนี้ไว้อย่างแน่นหนาตลอดไป
.
นั่นจะทำให้พวกเขามีเบรกติดตัวไปอีกนานแสนนาน ประเด็นจึงมิใช่คำพูด แต่เป็นการปฏิบัติที่เอาจริงเอาจังของพ่อแม่ ประเด็นมิใช่การสั่งสอน แต่เป็นการที่เด็ก “ซึมซับ” วิถีของบ้านตัวเองเข้าไป
.
ผมเป็นคนเขียนหนังสือสั้น อีกทั้งไม่เข้าใจประเด็นทางกฎหมายอย่างถ่องแท้ว่าเรานำเรื่องผู้ป่วยของเรามาเล่าสู่กันฟังได้เพียงใด แม้ว่าจะทำเช่นนั้นบ้าง แต่ก็ผ่านการดัดแปลงเนื้อเรื่อง เปลี่ยนแปลงข้อมูล ตัดตอนเฉพาะประเด็น หรือควบรวมหลากหลายกรณีเข้าด้วยกันไว้ในตัวคนเดียว วิธีนี้มีข้อดีคือเขียนได้ชัด แต่มีจุดอ่อนคือถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องดัดแปลงและตัดตอน ซึ่งทางทฤษฎีแล้ว มนุษย์เป็นองค์รวมที่แยกส่วนมิได้ เมื่อเราแยกส่วน ประเด็นก็อาจจะเบี่ยงเบนไปได้ทันที
.
แต่สำหรับเล่มนี้ ผมเชื่อว่าผู้เขียนได้ศึกษาและปรึกษาประเด็นกฎหมาย นอกเหนือจากประเด็นจริยธรรมมาอย่างดีแล้ว ในการนำบทสนทนาระหว่างพ่อแม่หลายคน ทั้งที่คุยกันเองหรือคุยกับผู้เขียน มาสื่อสารได้อย่างรอบด้าน นี่จึงเป็นอีกส่วนที่เหมาะมากสำหรับพ่อแม่ผู้อยากรู้ว่าเวลาไปพบนักบำบัด เขาทำอะไรกัน